Browse the glossary using this index

Special | A | B | C | D | E | F | G | H | I | J | K | L | M | N | O | P | Q | R | S | T | U | V | W | X | Y | Z | ALL

Page:  1  2  3  4  (Next)
  ALL

การซื้อขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตและมิใช่ทรัพย์สินทางการเงิน

มาจากคำว่า Acquisition / Disposal of non-produced, non-produced, non-financial assets หมายถึงการซื้อขายทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน และทรัพย์สินที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและสัญญาเช่าซื้อเฉพาะกรณีการซื้อขายที่ดิน โดยสถานทูตถือเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นการโอนความเป็นเจ้าของระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศด้วยกัน โดยให้ถือว่าผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศที่ซื้อที่ดินนั้น มีเพียงการเรียกร้องทางการเงิน (Financial Claim) ต่อผู้มีถิ่นฐานในประเทศเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถแยกรายการนี้ได้ โดยยังรวมอยู่ในรายการเงินโอนและบริจาคและบัญชีการเงิน


กำลังแรงงาน

บุคคลทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำ หรือว่างงาน หรือรอฤดูกาลที่เหมาะสมเพื่อที่ จะทำงานและตามปกติจะทำงานโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตรหรือธุรกิจซึ่งทำกิจกรรมตามฤดูกาลโดยมีหัวหน้าครัวเรือนหรือ สมาชิกคนอื่น ๆ ในครัวเรือนเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ

คนจน

บุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หรือ SET Index เป็นดัชนีราคาหุ้นที่คำนวณโดยการถัวเฉลี่ยราคาหุ้นสามัญแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียน โดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SET Index แสดงมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นสามัญทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันปัจจุบัน เทียบกับกับมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นดังกล่าว ณ วันฐาน (30 เมษายน 2518) ค่าเปลี่ยนแปลงของดัชนีนี้จึงแสดงถึงระดับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหุ้นสามัญทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ด้วย


ดัชนีเซท 50

หรือ SET50 Index เป็นดัชนีราคาหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จัดทำขึ้น เพื่อใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง และการซื้อขายมีสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ โดยมีสูตรและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับการคำนวณ SET Index แต่ใช้วันที่ 16 สิงหาคม 2538 เป็นวันฐาน ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะมีการพิจารณาเลือกหุ้นสามัญ 50 หลักทรัพย์ เพื่อใช้ในการคำนวณ SET50 Index ทุกๆ 6 เดือน

ดุลการค้า

มาจากคำว่า Trade Balance เป็นผลต่างสุทธิระหว่างมูลค่าสินค้าออก เอฟ.โอ.บี. (ราคาที่ไม่รวมค่าระวางและประกันภัยสินค้า) กับมูลค่าสินค้าเข้า ซี.ไอ.เอฟ. (ราคาที่รวมค่าระวางและประกันภัยสินค้า) ที่ได้ปรับตามคำนิยามของดุลการชำระเงินแล้ว

ดุลงบประมาณ

มาจากคำว่า Budgetary Balance หมายถึง ส่วนต่างระหว่างประมาณการรายได้และประมาณการรายจ่ายตามที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ ประจำปี เช่น ปีงบประมาณ 2542 ประมาณการรายได้ 800 พันล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 825 พันล้านบาทดังนั้นดุลงบประมาณ ขาดดุล 25 พันล้านบาท


ดุลบริการ

มาจากคำว่า Net Service เป็นผลต่างสุทธิที่แสดงถึงการค้าระหว่างประเทศในด้านบริการ ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าท่องเที่ยว ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาคทางการ ค่าสื่อสารโทรคมนาคม ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่ารอยัลตี้ และค่าเครื่องหมายการค้า/สิทธิบัตร ค่าประกันภัย เป็นต้น


ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย

มาจากคำว่า Capital and Finance Account หรือ KA & FA เป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศ กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ โดยสินทรัพย์จะแสดงถึงสิทธิในการเรียกร้อง ขณะที่หนี้สินจะแสดงถึงภาระที่จะถูกเรียกร้อง ประกอบด้วยบัญชีทุน และบัญชีการเงิน


ดุลบัญชีเดินสะพัด

มาจากคำว่า Current Account หรือ CA หมายถึง ผลรวมสุทธิของดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน


ดุลเงินสดรัฐบาล

มาจากคำว่า Cash Balance หมายถึง ส่วนต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายจริงของรัฐบาล ทั้งจากเงินในและเงินนอกงบประมาณ หรืออีกนัยหนึ่ง ดุลเงินสดจะเท่ากับดุลเงินในงบประมาณบวกดุลเงินนอกงบประมาณ โดย เงินในงบประมาณ หมายถึง รายได้แผ่นดินและรายจ่ายตามงบประมาณ ซึ่งรายได้ประกอบด้วย รายได้จากภาษีอากร รายได้จากการขายสินค้าและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์และรายได้อื่น ๆ ส่วนรายจ่ายประกอบด้วย รายจ่ายหมวดเงินเดือนและค่าจ้าง หมวดค่าตอบแทนใช้สอยวัสดุสาธารณูปโภค หมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง หมวดเงินอุดหนุน และรายจ่ายอื่น ส่วน เงินนอกงบประมาณ หมายถึง เงินที่ส่วนราชการมีอยู่ซึ่งไม่อยู่ในข่ายที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หรือมิใช่รายจ่ายตามงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการจะนำเงินดังกล่าวมาฝากไว้กับกระทรวงการคลัง เช่น เงินทุนหมุนเวียน เงินฝาก เงินทดรองราชการ เงินยืม เป็นต้น


ตราสารหนี้

เอกสิทธิ์ทางการเงินที่แสดงถึงการโอนอำนาจการซื้อในปัจจุบันให้แก่ผู้กู้ โดยผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยตลอดจนเงินต้น ตามอัตราและเวลาที่ตกลงกัน และในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ผู้ที่ถือตราสารหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องเงินคืนเหนือผู้ถือหุ้นสามัญ ทั้งนี้ ตราสารหนี้ยังมีคุณสมบัติที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้จนกว่าจะหมดอายุของตราสารนั้นอีกด้วย

ตราสารอนุพันธ์

มาจากคำว่า Derivative Instrument หมายถึง ตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าหรือราคาของตราสารอนุพันธ์นั้น จะเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าหรือราคาของสินค้าที่ตราสารอนุพันธ์นั้นอิงอยู่ (Underlying Assets)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SET หรือ The Stock Exchange of Thailand หมายถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนระยะยาวที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์และให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนควบคุมดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระเบียบ คล่องตัวและยุติธรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ตลาดหลักทรัพย์ใหม่

MAI ย่อมาจาก Market for Alternative Investment เป็นชื่อของ "ตลาดหลักทรัพย์ใหม่" ซึ่งเป็นตลาดรองอีกแห่งหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการร่วมลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และเอื้ออำนวยการแปลงสภาพจากหนี้เป็นทุนระหว่างสถาบันการเงิน หรือผู้ร่วมทุนรายใหม่ และลูกหนี้ ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มสินค้าใหม่ให้เป็นทางเลือกในการลงทุนและกระจายความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย ตลาดหลักทรัพย์ใหม่เริ่มเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544

ตลาดเงิน

มาจากคำว่า Finantial Market เป็นสถานที่ให้กู้เงิน หรือ ซื้อขายหลักทรัพย์ได้แก่ที่ดิน อาคาร สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า

ตั๋วเงินคลัง

มาจากคำว่า Treasury Bill หมายถึง ตราสารทางการเงินระยะสั้นที่รัฐบาลเป็นผู้ออก จำหน่ายโดยวิธีประมูลและชำระเงินในราคาตราหักส่วนลด เมื่อครบกำหนดผู้ถือกรรมสิทธิ์ จะได้รับเงินเต็มจำนวนราคาตรา

ธุรกรรมเคลื่อนย้ายเงินทุน

มาจากคำว่า Capital Transfer เป็นการเคลื่อนย้ายในรูปตัวเงินและในรูปมิใช่ตัวเงิน ได้แก่ การโอนย้ายเงินทุนที่เกิดจากการซื้อขายสินทรัพย์ถาวร การโอนสิทธิในทรัพย์สินถาวร และการยกเลิกหนี้สินโดยเจ้าหนี้

บัญชีการเงิน

มาจากคำว่า Financial Account หมายถึงธุรกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) การลงทุนในหลักทรัพย์(Portfolio Investment) และการลงทุนอื่น ๆ (Other Investment)

บัญชีทุน


ผลตอบแทนการจ้างงาน

มาจากคำว่า Compensation of Employees หมายถึง รายได้ในรูปของค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน

ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ

มาจากคำว่า Gross National Product หรือ GNP หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง  โดยใช้ทรัพยากรที่คนประเทศนั้น ๆ เป็นเจ้าของ


ผลิตภัณฑ์ในประเทศ

มาจากคำว่า Gross Domestic Product หรือ GDP หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงว่าทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้า และบริการจะเป็นทรัพยากรของพลเมืองในประเทศหรือเป็นของชาวต่างประเทศ ในทางตรงข้าม ทรัพยากรของพลเมืองในประเทศแต่ไปทำการผลิตในต่างประเทศก็ไม่นับรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ในประเทศ

ผลิตภัณฑ์ในประเทศมีการจัดทำทั้งตามราคาปัจจุบันและราคาคงที่โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาตลาดของสินค้าและบริการเหล่านั้น ขณะที่ GDP ณ ราคาคงที่คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาปีที่กำหนดเป็นปีฐาน


ผู้มีงานทำ

บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจเป็นไปตามเงื่อนไขนี้

1. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ผลกำไร เงินปันผลหรือค่าตอบแทนที่มีลักษณะอย่างอื่น สำหรับผลงานที่ทำเป็นเงินสด หรือสิ่งของ หรือ

2. ไม่ได้ทำงานเลย แต่ยังคงมีตำแหน่งหน้าที่การงาน ธุรกิจ ไร่นาเกษตรของตนเอง ได้หยุดงานชั่วคราว เนื่องจากเจ็บป่วยหรือ บาดเจ็บ หยุดพักผ่อน สถานที่ทำงานปิด ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย นอกฤดูกาลหรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่นการปิดที่ทำงานชั่วคราวโดยไม่คำนึง ว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานหรือไม่ก็ตาม จะต้องมีกำหนดว่าภายใน 30 วัน นับจากวันที่สถานที่ทำงานปิดจะได้กลับมาทำงาน ณ สถานที่ทำงานนั้นอีก หรือ

3. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจ หรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือน หรือของสมาชิกในครัวเรือน


ผู้ว่างงาน

บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจไม่ได้ทำงานใด ๆ เลยแม้แต่ 1 ชั่วโมง ไม่มีงานทำ ไม่มีธุรกิจ หรือไร่นาเกษตรของตนเองแต่พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งหมายถึงบุคคลต่อไปนี้

1. ผู้ซึ่งหางานทำภายใน 30 วัน นับถึงวันแจงนับ

2. ผู้ซึ่งไม่ได้หางานทำเนื่องจากเจ็บป่วย หรือไม่ได้หางานทำ เพราะคิดว่าหางานที่เหมาะสมกับตนทำไม่ได้ รอที่จะเริ่มงานใหม่ รอฤดูกาล หรือเหตุผลอื่น ๆ


พันธบัตร

มาจากคำว่า Bond หมายถึง ตราสารประเภทหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกู้ยืมเงินระยะยาวจากประชาชน การออกพันธบัตรรัฐบาล (government bond) ทำให้รัฐบาลเกิดความคล่องตัวในการจัดหาเงินทุนในการพัฒนาประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียงแหล่งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง และจะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งได้รับชำระคืนเงินต้นตามราคาที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น และจะมีอายุตั้งแต่ 1 ปีไปจนถึง 20 ปี สำหรับพันธบัตรที่ออกโดยองค์กรภาครัฐจะมีชื่อเรียกตามองค์กรที่ออกพันธบัตร เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ พันธบัตรเหล่านี้มักจะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้องค์กรของรัฐโดยตรงเช่นกัน

มาตรการกันสำรอง 30%

มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2549 ตามประกาศเลขที่ 51/2549 เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทจะต้องกันสำรองไว้ 30% ส่วนที่เหลือ 70% ให้รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทให้ลูกค้า ส่งผลให้ตลาดหุ้นวันที่ 19 ธ.ค. 2549 ลดลง 108 จุด หรือ 19% ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนมาตรการนี้


มูลค่าที่ตราไว้

มาจากคำว่า Par Value หมายถึง มูลค่าเงินต้นที่ผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับคืนเมื่อตราสารหนี้ครบกำหนด แต่มูลค่าที่ตราไว้นี้อาจลดลงเมื่อมีการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ชนิดทยอยจ่ายคืน ทั้งนี้ สิ่งที่มักสับสน คือ มูลค่าที่ตราไว้นี้ไม่ใช่ราคาของตราสารหนี้ เมื่อมีการซื้อขายในตลาดรองซึ่งราคาจะมีความผันผวน และขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง

รายได้

มาจากคำว่า Income ประกอบด้วยผลตอบแทนการจ้างงาน และรายได้จากการลงทุน

รายได้จากการลงทุน

มาจากคำว่า Investment Income หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองทรัพย์สินทางการเงินในต่างประเทศ ได้แก่ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนโดยตรง การลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนอื่นๆ

รายได้ต่อหัว

มาจากคำว่า Per Capita GNP คำนวณจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติหารด้วยจำนวนประชากรทั้งประเทศ

รายได้ประชาชาติ

มาจากคำว่า National Income หรือ NI หมายถึงผลตอบแทนจากปัจจัยการผลิต ซึ่งได้แก่ค่าตอบแทนแรงงาน ผลตอบแทนจากที่ดิน ทุน และการประกอบการโดยมีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ดังนี้

NI = GNP - ค่าเสื่อมราคา - (ภาษีทางอ้อม - เงินอุดหนุน)


วันหมดอายุของตราสารหนี้

มาจากคำว่า Maturity Date หมายถึง วันหมดอายุของตราสารหนี้นั้น ซึ่งผู้ออกจะต้องทำการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือตราสาร โดยทั่วไประยะเวลาตั้งแต่วันออกจนถึงวันหมดอายุมักอยู่ระหว่าง 1 วันไปจนถึง 30 ปี

สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้

มาจากคำว่า GINI Coefficient หรือเรียกว่าค่าจินี เป็นตัวชี้วัดความไม่เท่าเทียมที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด เป็นตัวที่ใช้อธิบายในกลุ่ม Lorenz Curve ค่าจินีถูกกำหนดจากพื้นที่ระหว่างเส้น Lorenz Curve กับเส้นการกระจายรายได้สมบูรณ์  หารด้วยพื้นที่ใต้เส้นทะแยงมุมทั้งหมด    สัมประสิทธิ์จินี  จะมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดยหากมีค่าเข้าใกล้ศูนย์จะยิ่งดี คือทุกคนมีรายได้เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ เมื่อค่า = 0

สินค้าโภคภัณฑ์

มาจากคำว่า Commodity หมายถึง สินค้าที่มีราคาในตัวเอง เช่น กระแสไฟฟ้า, ข้าว, น้ำมัน, กาแฟ, ทองคำ

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

มาจากคำว่า Non-Profit Loan หรือ NPL หมายถึง เงินให้สินเชื่อจัดชั้นต่ำกว่ามาตราฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นในประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทยเรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 หรือที่จะแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ธนาคารพาณิชย์กันสำรองครบร้อยละ 100 และตัดออกจากบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี

หนี้ต่างประเทศ

มาจากคำว่า External Debt หมายถึง ยอดคงค้างหนี้สินส่วนที่ไม่ใช่ทุนเรือนหุ้นของผู้มีถิ่นฐานในประเทศก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นในต่างประเทศ ทั้งหนี้สินที่มีดอกเบี้ย หรือไม่มีดอกเบี้ย โดยมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนเงินต้น โดยรวมหนี้สินทุกสกุลเงินและทุกประเภทของการกู้ยืม

หนี้ภาคทางการ หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่ภาคทางการเป็นผู้ก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศประกอบด้วยหนี้ของรัฐบาลกลาง (กู้ในนามรัฐบาลไทย) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ และหนี้ของเอกชนที่รัฐบาลค้ำประกันรวมทั้งหนี้ของ ธปท.

หนี้ภาคเอกชน หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่ภาคเอกชนเป็นผู้ก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นฐานในตางประเทศ ประกอบด้วยหนี้ของภาคธุรกิจธนาคาร (ธนาคารพาณิชยและกิจการวิเทศธนกิจ) และภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารอาทิ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ นิติบุคคลที่ประกอบการค้า การผลิต และบุคคลธรรมดา

หนี้ระยะยาว หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่มีระยะเวลาครบกำหนดมากกว่า 1 ปี

หนี้ระยะสั้น หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่มีระยะเวลาครบกำหนดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี


หุ้นกู้

มาจากคำว่า Debenture หมายถึง ตราสารประเภทหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั้งในและต่างประเทศ การออกหุ้นกู้จะทำให้กิจการมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานหรือการลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเพียงแหล่งเดียว ผู้ลงทุนในหุ้นกู้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการจึงไม่มีสิทธิในการบริหารงานของกิจการ และอาจได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีการจ่ายดอกเบี้ยจะมีอัตราและระยะเวลาที่แน่นอน และได้รับคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ระบุ นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้จะมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและมีหลายประเภทเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นของกิจการ

อัตราดอกเบี้ย MLR

มาจากคำว่า Medium Lending Rate หรือ Minimum Loan Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลาที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี

อัตราดอกเบี้ย MOR

มาจากคำว่า Minimum Overdraft Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยประเภทเบิกเกินบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจาก ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี

อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว

มาจากคำว่า Coupon Rate หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น ๆ ตามวัน เดือน ปี ที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ก็ได้ โดยปกติแล้วการจ่ายดอกเบี้ยมักจ่ายทุก 6 เดือน แต่ก็อาจเป็นแบบจ่ายทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือรายปี ก็ได้


อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร

มาจากคำว่า Interbank Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในตลาดเงินระยะสั้น เพื่อใช้ในการปรับสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์โดยธุรกรรมอาจจะอยู่ในรูป การกู้ยืมแบบจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (at call) หรือเป็นการกู้ยืมแบบมีกำหนดระยะเวลา (term) ตั้งแต่ 1 วัน ถึง 6 เดือน ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 50-70 เป็นการกู้ยืมระยะ 1 วัน (Overnight) รองลงมาเป็นการกู้ยืมแบบจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (at call)


อัตราอัตราดอกเบี้ย MRR

มาจากคำว่า Minimum Retail Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ทั้งนี้ใช้โยงเข้ากับอัตราดอกเบี้ย MLR เพื่อให้สามารถ สะท้อนระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันระหว่างลูกค้ารายใหญ่ กับลูกค้ารายย่อยได้ โดยบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี


อัตราแลกเปลี่ยน

มาจากคำว่า Exchange Rate เป็นอัตราที่เทียบระหว่างค่าของเงินสกุลหนึ่ง (เช่น เงินสกุลท้องถิ่น)กับ หนึ่งหน่วยของเงินสกุลหลัก เช่น ค่าของเงินบาทเทียบกับ 1 หน่วยดอลลาร์ สหรัฐเท่ากับ 40บาท เป็นต้น ระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยกว้างๆแล้วมี 2 ระบบ คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) และระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Floating Exchange Rate)


เงินคงคลัง

ย่อมาจาก Treasury Balance หมายถึง เงินสดที่อยู่ในมือและเงินฝากของกระทรวงการคลังในที่ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากของกระทรวงการคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เงินสดที่คลังจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ เงินสดที่กรมธนารักษ์ เงินฝากของคลังจังหวัดที่ธนาคารกรุงไทยในแต่ละจังหวัดและเงินสดระหว่างทางที่รวมถึงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของกระทรวงการคลัง ที่อยู่ในระหว่างการขนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

เงินฝืด

ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อยไป การใช้จ่ายลดน้อยลง ทำให้ราคาสินค้าตก

เงินสำรองระหว่างประเทศ

มาจากคำว่า International Reserves / Reserves Assets คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองหรือควบคุมโดยธนาคารกลางและสามารถนำ มาใช้ประโยชน์ทันทีที่จำเป็น เช่น การชดเชยการขาดดุลการชำระเงินหรือใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เงินสำรองระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ทองคำ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ


เงินเฟ้อ

ภาวะที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ (Rising Prices) การที่สินค้ามีระดับราคาสูง (High Prices) ไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ จำเป็นต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจะเป็นเงินเฟ้อ

เงินโอนและบริจาค

มาจากคำว่า Current Transfer หมายถึง เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (residents) ได้รับหรือโอนให้ผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพยากรที่แท้จริงหรือทางการเงิน

เส้นความยากจน

เครื่องมือในการกำหนดเกณฑ์ความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของบุคคล ถ้าบุคคลใดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็พิจารณาได้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนจน เช่น พ.ศ.2547 เส้นความยากจนเขตเมือง คือ 1,525 บาท/คน/เดือน และเส้นความยากจนชนบท คือ 1,110 บาท/คน/เดือน

เส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

มาจากคำว่า Government Bond Yield Curve ประกอบด้วย

TTM ย่อมาจาก Time to Maturity หมายถึง อายุคงเหลือของพันธบัตร

Yield (%) หมายถึง อัตราผลตอบแทน


ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์

มาจากคำว่า Warrant หมายถึง หลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือ ในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Securities) ในจำนวน ราคา และตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนไม่เห็นประโยชน์ของการใช้สิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ตามที่ระบุ ก็สามารถเลือกไม่ใช้สิทธิได้ โดยทั่วไป บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์มักจะออกใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ควบมากับหลักทรัพย์อื่น เพื่อเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการจองซื้อหุ้นสามัญออกใหม่ของบริษัทตามเงื่อนไขที่ระบุ เรียกว่า "ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญ" นอกจากนี้ ยังมีใบสำคัญแสดงสิทธิอีกประเภท ซึ่งผู้ออกไม่ได้เป็นบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นั้นอ้างอิงอยู่ เรียกว่า "ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant)" โดยผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ประเภทนี้จะต้องสำรองหุ้นไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิ ซึ่งอาจมีการสำรองหุ้นไว้เต็มตามจำนวนการใช้สิทธิ หรือสำรองไว้บางส่วน ขึ้นอยู่กับประเภทและเงื่อนไขที่ระบุ


Page:  1  2  3  4  (Next)
  ALL